พระรอด พิมพ์ใหญ่
พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์
พระรอด สุดยอดแห่งพระพิมพ์ของล้านนา หนึ่งใน "พระชุดเบญจภาคี"
อันลือชื่อของไทยที่มีอายุมากที่สุด ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผา
ศิลปะทวารวดี-ศรีวิชัย แบ่งพิมพ์ออกเป็น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก
พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น บางตำราก็ว่ามีอีกหนึ่งพิมพ์ คือ
พิมพ์บ่วงเงินบ่วงทอง แต่หาดูได้ยากยิ่ง มีพุทธคุณเป็นเลิศด้านแคล้วคลาด
รวมทั้ง อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม อุดมด้วยโภคทรัพย์
เรียกว่าครบเครื่องทีเดียว
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า "พระรอด"
สร้างในสมัยทวาราวดีเมื่อนับพันปีมาแล้ว สมัยที่พระนางจามเทวี
ปกครองเมืองหริภุญไชย พระนางทรงสถาปนาพระอาราม ชื่อ จตุรพุทธ ปราการ
(วัดมหาวัน) ขึ้น จึงดำริให้สร้างพระเจดีย์ไปพร้อมกัน พร้อมทั้งบรรจุ
"พระรอด" ไว้ โดย พระสุมณานารทะฤๅษี เป็นผู้สร้าง
เอกลักษณ์สำคัญของ
"พระรอด" คือ เป็นพระกรุเก่าแก่ที่มีการค้นพบเฉพาะที่ วัดมหาวัน จ.ลำพูน
เท่านั้น และแรกเริ่ม "พระรอด"
คงบรรจุอยู่ในพระเจดีย์โบราณแต่ต่อมาพระเจดีย์ได้โค่นล้มลง
พระรอดจึงตกอยู่ในดินกระจัดกระจายทั่วไป จึงมีการแตก กรุของ "พระรอด"
ในหลายครั้งหลายครา
ครั้งแรก ปีพ.ศ.2435-2445
สมัยเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร ได้ปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่
ทำให้พบพระรอดจำนวนมากภายใต้ซากเจดีย์เก่า ประมาณปีพ.ศ.2451
สมัยเจ้าหลวงอินทิยงยศ
เห็นว่ามีต้นโพธิ์ขึ้นแทรกบริเวณฐานพระเจดีย์วัดมหาวัน และมีรากชอนลึก
จนทำให้พระเจดีย์มีรอยร้าวหลายแห่ง จึงให้ช่างรื้อฐานและปฏิสังขรณ์ใหม่
ก็พบพระรอดจำนวน 1 กระเช้า จึงนำแจกจ่ายบรรดาญาติวงศ์เจ้าลำพูน
ในปีพ.ศ.2497 มีการปฏิสังขรณ์วิหาร เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์
พบพระรอดไม่กี่องค์ แต่พบ พระคง พระบาง พระสาม พระสิบสอง และพระรอดหลวง
ปี
พ.ศ.2498 ปฏิสังขรณ์กุฏิเจ้าอาวาสในสมัยนั้น ในการขุดเพื่อลงรากฐานก่อสร้าง
พบพระรอดกว่า 200 องค์ แทบทุกองค์เป็นพระที่งามและเนื้อจัด มีหลายพิมพ์ทรง
และหลังปีพ.ศ.2500 ก็ยังมีการขุดหาพระรอดโดยรอบบริเวณวัดมหาวันอยู่
สำหรับ
"พระรอด" ที่นับได้ว่าเป็นองค์สำคัญในชุดเบญจภาคี คือ "พระรอด พิมพ์ใหญ่"
ซึ่งมีพุทธลักษณะและพุทธศิลปะที่งดงาม
และนับเป็นพิมพ์ที่มีการทำเทียมสูงสุด มีหลักการพิจารณาในเบื้องต้น ดังนี้
- แยก "กลุ่มโพธิ์" ให้ได้ 6 กลุ่ม โดยจะมีก้านโพธิ์กั้น
- ผนังซ้ายมือขององค์พระ จะมี "เส้นพิมพ์แตก" ลากจากพระกรรณยาวลงมาถึงโพธิ์ข้างหัวไหล่
- ปลายพระกรรณ เป็น "ขอเบ็ด"
- สะดือเป็นหลุมคล้าย "เบ้าขนมครก"
- มี "เส้นน้ำตก" ลากผ่านหน้าตักจนถึงชั้นฐาน
- มี "ฐาน" 4 ชั้น
- หัวแม่มือขวา กางอ้าปลายตัด
- ใบโพธิ์กลางชุดที่ 2 เป็น "โพธิ์ติ่ง"
- ใบโพธิ์จะตั้งเป็นสันนูนขึ้นมา คล้ายทรงพีระมิด
- เนื้อองค์พระจะละเอียดมาก ด้านหลังเป็นรอยคล้ายลายนิ้วมือ
- ก้นมีสองชนิด คือ ก้นเรียบและก้นแมลงสาบ (ก้นพับ)
การจะหาดูหาเช่า "พระองค์สำคัญ" ระดับ ประเทศ นั้น ต้องรอบรู้ รอบคอบ ละเอียด ถี่ถ้วน สดับตรับฟังกูรู
และควรหาผู้ไว้เนื้อเชื่อใจได้เพื่อช่วยดูช่วยตัดสินใจครับผม
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ http://เว็บพระ.net/index.php
คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น