วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เหรียญพระยาพิชัยดาบหัก วัตถุมงคลเมืองอุตรดิตถ์

เหรียญพระยาพิชัยดาบหัก วัตถุมงคลเมืองอุตรดิตถ์

สมภพ สินพิพัฒนฤดี

เมื่อ เร็วๆ นี้ ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ นายชัช กิตตินภดล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระฤกษ์ ยกอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก วีรบุรุษคนสำคัญของชาติ ฐานปัจจุบันไปยังแท่นที่จำลอง ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของอนุสาวรีย์ เป็นเวลา 120 วัน

โดยยกฐานให้สูงขึ้นจากเดิม 2 เมตร เพิ่มอีก 2.50 เมตร รวมเป็น 4.50 เมตร เพื่อให้สมเกียรติและเกิดความสง่างาม พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ให้เหมาะสมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดอุตรดิตถ์ ต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา สักการะเคารพบูชา ด้วยเหตุที่ฐานเดิมชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา

อนุสาวรีย์พระยาพิชัย ดาบหัก ออกแบบโดยกรมศิลปากร ในชุดนายทหารสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะยืนถือดาบ 2 ข้าง มีผ้ามัดมือติดด้ามดาบป้องกันดาบหลุดมือ ดาบอีกข้างหนึ่งหักข้างขวา ปั้นแบบโดย นายสนั่น ศิลากรณ์ ปฏิมากรเอก ชั้นครู ศิลปินแห่งชาติ ศิษย์เอกของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และศาสตรา จารย์โคราโด เฟโรจี ชาวอิตาลี

อนุสาวรีย์มีขนาดใหญ่กว่าคนปัจจุบันจริง 3 เท่า หล่อด้วยทองเหลืองผสมโลหะ โดยกรมศิลปากร วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2511 ก่อสร้างเสร็จเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2512 พร้อมจัดสร้างเหรียญพระยาพิชัย ในปีพ.ศ.2513 ออกแบบโดยกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จำลองแบบมาจากอนุสาวรีย์

พระยาพิชัยดาบหัก นามเดิม จ้อย เกิดเมื่อ พ.ศ.2284 ณ บ้านห้วยคาเมืองพิชัย ในวัยเด็กบิดามารดานำไปฝากเรียนหนังสือที่วัดมหาธาตุ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

อายุ 14 ปี เกิดชกต่อยกับลูกเจ้าเมืองพิชัย หนีออกจากวัด เปลี่ยนชื่อเป็น "ทองดี" ฝึกฝนมวยไทยฟันดาบจนมีฝีมือ เดินทางไปถึงเมืองตาก ขึ้นชกมวยในงานถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ปราบครูมวยชื่อดัง จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "หลวงพิชัยอาษา" ร่วมกับพระเจ้าตากสินมหาราช รบสู้กับพม่าชนะศึกหลายครั้งหลายคราว สู้รบจนดาบหักกลางสนามสมรภูมิไปข้างหนึ่ง ได้รับฉายาพระยาพิชัยดาบหักมาถึงปัจจุบันนี้

สำหรับ "เหรียญพระยาพิชัยดาบหัก" จัดสร้างขึ้นหลังจากมีการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ บริเวณหน้าศาลา กลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ประธานคณะกรรมการจัดสร้าง นำโดย พล.ท.สำราญ แพทยกุล แม่ทัพภาคที่ 3 และ นายเวทย์ นิจถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รองประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษาสร้างเหรียญพระยาพิชัยดาบหัก มีมติให้จัดสร้างเหรียญพระยาพิชัย

ด้านหน้าเหรียญ มีรูปพระยาพิชัยดาบหัก ชุดแม่ทัพนายทหารสมัยอยุธยาตอนปลาย ยืนถือดาบ 2 ข้าง มีผ้ามัดมือติดด้ามดาบเพื่อป้องกันดาบหลุดจากมือ ดาบข้างขวาหัก มุมขอบล่างปรากฏตัวหนังสือ "พระยาพิชัยดาบหัก จังหวัดอุตรดิตถ์"

ด้าน หลังเหรียญ อัญเชิญมหายันต์อัน ศักดิ์สิทธิ์ เช่น มหายันต์เกราะเพชร หรือ ยันต์อิติปิโส 8 ทิศ หรือ ยันต์กระทู้ 7 แบก ประกอบอักขระขอมและยันต์ตัวนะต่างๆ พร้อมกับมีตัวหนังสือ "๑ ก.พ. ๒๕๑๓" ด้านล่างของเหรียญ จำนวนจัดสร้างทั้งสิ้น เนื้อทองคำ 189 เหรียญ เนื้อเงิน จำนวน 999 เหรียญ และเนื้อทองแดง จำนวน 99,999 เหรียญ

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2513 จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก มีพระเกจิ อาจารย์และสุดยอดคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม จากทั่วประเทศ จำนวนกว่า 100 รูป ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตมหาพุทธาภิเษก อาทิ หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ระยอง, หลวงพ่อจันทร์ วัดหาดสองแคว อ.ตรอน อุตรดิตถ์, หลวงปู่ทองดำ วัดท่าทอง อ.เมือง อุตรดิตถ์, หลวงพ่อบุญ วัดน้ำใส อ.ลับแล อุตรดิตถ์, หลวงพ่อปี้ วัดลานหอย อ.ด่านลานหอย สุโขทัย, หลวงพ่อเกตุ วัดศรีเมือง อ.กงไกรลาศ สุโขทัย, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ, หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค นครสวรรค์, หลวงปู่สี วัดถ้ำเขาบุญนาค นครสวรรค์, หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เพชรบุรี เป็นต้น

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีพุทธาภิเษก ทางคณะกรรมการได้เปิดจำหน่ายเหรียญพระยาพิชัยดาบหัก ในงานประจำปีที่ กำหนดขึ้นระหว่าง วันที่ 1-7 ก.พ.2513 เพื่อให้ผู้มาเที่ยวงานได้บูชากันเป็นการน้อมรำลึกถึง บรรพบุรุษผู้กล้าหาญของชาติ

ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง

เหรียญพระยาพิชัยดาบหัก ถือเป็นความสง่างามต่อพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งเป็นวีรบุรุษผู้กล้าแก่ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ และผู้เคารพศรัทธาทั่วไป

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น