วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ยันต์ลงตะกรุด ๙ ปล่อง หลวงพ่อพาน

ยันต์ลงตะกรุด ๙ ปล่อง หลวงพ่อพาน

ยันต์ลงตะกรุด๙ปล่องหลวงพ่อพาน สุขกาโม วัดโป่งกะสัง : ชั่วโมงเซียน อ.โสภณ
               ตะกรุดของพระครูประวัติศีลาจาร หรือ หลวงพ่อพาน สุขกาโม อดีตเจ้าอาวาสวัดเฉลิมราษฎร์ (โป่งกะสัง) ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ แม้แต่หลวงพ่อยิดยังยกย่องตลอด (เรียกว่าเป็นพี่เบิ้มของพระอาจารย์แถบภาคกลางตอนล่างในยุคนั้น) หลวงพ่อยิดท่านพูดว่า ของฉันเก่งก็เก่งจริง แต่ถ้าทำไม่ดี เดี๋ยวคุ้มไม่ได้ ของหายบ้าง เสื่อมบ้าง อะไรบ้าง แต่ของหลวงพ่อพานคุ้มได้หมด นั่นคือวัตถุมงคลของหลวงพ่อพานท่านคุ้มครองแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่หลวงพ่อคูณเอง ถ้ามีคนจากภาคกลางหรือภาคใต้ไปเยี่ยมท่าน ท่านจะบอกว่าให้ไปไหว้หลวงพ่อพานแทน หลวงพ่อคูณท่านว่า “ไปไหว่หลวงพ่อพานนู่น เก่งกั่วกู๋อี๊ก” (ไปไหว้หลวงพ่อพานนู่น เก่งกว่ากูอีก)

               อ.ไชยา อ่ำสำอางค์ "เซียนใหญ่พระหลวงพ่อยิด" และเจ้าของฉายา "ศิษย์พ่อยิด" บอกว่า "ท้องที่กุยบุรีแล้วท่านเป็นอันดับหนึ่งเรื่องคงกระพันชาตรีหนังเหนียวยิ่ง นัก มีประสบการณ์จนเป็นที่กล่าวถึงและเรื่องเล่ากันมากมาย สิ่งที่เป็นสุดยอดแห่งความต้องการของบรรดาลูกศิษย์ก็คือ ตะกรุดโทน หรือ ตะกรุด ๙ ปล้อง ท่านจะลงจารเองทุกดอกและจะลงช่วงในพรรษาแค่ ๑๐๘ ดอกเท่านั้น"

               โดยนิสัยส่วนตัวแล้วจะมีนิสัยเป็นคนขี้สงสัย และต้องหาคำอธิบายให้คลายสงสัยให้ได้ โดยเฉพาะตะกรุดที่อาจารย์แต่ละท่านทำนั้น พระเกจิอาจารย์จารด้วยคาถาอะไร บทไหน สามารถคลี่ออกมาดูได้หรือไม่ ด้วยความคุ้นเคยกับหลวงพ่อพาน หลวงพ่อยิด วันหนึ่งระหว่างที่อยู่วัดหนองจอก ไม่มีญาติโยมมาหา จึงได้ถามหลวงพ่อยิดถึงข้อสงสัยที่อยากรู้มานานว่า ตะกรุดสามารถคลี่ออกมาได้หรือไม่ หรือว่าคลี่แล้วคาถาที่ใช้กำกับจะเสื่อมหรือไม่ และได้รับคำตอบที่ทำให้คลายข้อสงสัยได้ โดยหลวงพ่อยิดตอบว่า

               ในสมัยก่อนคนเขาเล่นอาคมกัน สมมุติว่าเราไปมีเรื่องกับใคร แล้วเราอาจจะยิงเขา หรือฟันแทงเขา แต่ว่าไม่ว่าจะยิงฟันแทงอย่างไรก็ไม่สามารถทำอะไรคู่ต่อสู้ได้เสียที ฝ่ายเราที่ทำอะไรเขาไม่ได้ก็ต้องสืบเสาะหาดูว่า อีกฝ่ายหนึ่งครูบาอาจารย์เขาลงคาถาอะไรให้ลูกศิษย์ เมื่อทราบว่าใช้คาถาแบบไหนเราจะได้แก้อาคมของเขา เมื่อแก้ได้แล้วคราวนี้เราก็สามารถจะยิงฟันแทนคู่ต่อสู้ของเราได้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละ แต่ยุคหลังเขาไม่หวงวิชากันเหมือนกับหลวงพ่อที่จารและเสกเป่าแล้วให้ลูก ศิษย์ม้วนตะกรุดนั้นได้ จึงคลายข้อสงสัยว่า "เหตุใจเขาจึงไม่คลี่ตะกรุดกัน"

               อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีใครกล้าคลี่ตะกรุด ๙ ปล้อง ของหลวงพ่อพานดู โดยเกรงว่าอาคมจะเสื่อม แต่ยังมีลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและเป็นกรรมการวัดเท่านั้นจึงได้รับมอบผ้ายันต์ จากมือหลวงพ่อพานเมื่อครั้งยังที่ท่านมีชีวิตอยู่ สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ "ยันต์ที่ลงผ้ากับยันต์ที่ลงตะกรุดเหมือนกัน โดยเขียนเป็น ๙ ช่องทั้งแนวนอนและแนวตั้ง รวมแล้วมียันต์ทั้งหมด ๘๑ ตัว" ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า "ตะกรุด ๙ ปล้อง"

               ตะกรุด ๙ ปล่อง ซึ่งมียันต์ ๙ แถว แจกลูกศิษย์ ออกดอกละ ๑,๐๐๐ บาท เพื่อสมทบทุนซื้อปูนสร้างโบสถ์ ลักษณะการลงยันต์ในลักษณะนี้ เรียกว่า เป็นการลงยันต์แบบตัวเดียว หรือเรียกว่ายันต์โดด แต่ละตัวมีความหมายเป็นเอกลักษณ์มีความหมายเฉพาะตัว ไม่ได้คล้องเป็นบทเดียวกัน ตะกรุดจารมือของหลวงพ่อพานแต่ละดอกจึงมียันต์ไม่เหมือนกัน ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น

               แถวแรก มียันต์ ๙ ตัว ประกอบด้วย

               อิ มาจาก อิติปิโสรัตนมาลา ใช้ทางคงกระพัน

               สัม มาจาก สัม มา สัม พุท โธ ใช้ได้ทุกทาง

               โร มาจากตัวท้ายของคำว่า อะ นุ ตธ โร โส ทา ยะ

               วา มาจากตัวท้ายของ ภควา หัวใจพระเจ้าดำเนิน ใช้ทาง คุ้มกัน

               ชา มาจาก นะ ชา ลิ ติ คาถาหัวใจพระฉิม (คาถาข่ายเพชรพระพุทธเจ้า)

               วิ มาจาก วิชชาจรณะสัมปันโน

               สะ มาจาก สัตถาเทวมนุษสานัง

               โน มาจาก สัมปันโน แปลว่าสมบูรณ์

               ตะ มาจาก ตะมัตถังปากาเสโต

               แถวที่ ๒ นะ มาจากจาก นะ โม พุท ธา ยะ คาถาพระเจ้า ๕ พระองค์

               คะ มาจา คะพุทปันทูทะวะคะ  เป็นคาถาประจำวันเกิด

               ระ ไม่มีความหมาย

               สัม มาจาก สัมมาอะระหัง

               ปุ มาจาก อะสังวิสุโลปุสะพุภะ

               โธ มาจาก พุทโธ

               คะ มาจา คะพุทปันทูทะวะคะ  เป็นคาถาประจำวันเกิด

               สะ มาจาก สัตถาเทวะ ใช้ในทางอำนาจ

               พุท มาจาก พุทโธ ซึ่งเป็นนามพระพุทธเจ้า

               ในการเขียนยันต์ของหลวงพ่อพานนั้น แต่ละตัวไม่สัมพันธ์กันเลย นอกจากนี้บางตัวแปลความไม่ได้ยาก เข้าใจว่า "ระหว่างการลงยันต์นั้น หากท่านนึกยันต์ตัวใดได้ก็จะเขียนตัวนั้นลงไป" ด้วยเหตุนี้หากนำตะกรุดหลายๆ ดอกมาคลี่ดู จะเห็นว่า "ตำแหน่งของการลงยันต์แต่ละช่องไม่เหมือนกันเลย" 

คาถาฤาษี๑๐๘
               คาถา บูชาฤาษีมีอยู่หลายหลายตน ฤาษีที่คนไทยคุ้นเคย เช่น

               คาถาบูชาพระฤาษี ทั่วๆ ไปใช้ "โอม อมัสมิง พระประโคนธัพ พระมุนีเทวา หิตาตุมเห ปริภุญชันตุ ทุติยัมปิ อมัสมิง พระประโคนธัพ พระมุนีเทวา หิตาตุมเห ปริภุญชันตุ ตะติยัมปิ อมัสมิง พระประโคนธัพ พระมุนีเทวา หิตาตุมเห ปริภุญชันตุ"

               คาถาบูชาพ่อแก่ ที่ว่า "อุกาสะ อิมัง อัคคีพาหูบุพพัง อะหังวันทา อาจาริยัง สัพพะสัยยัง วินาศสันติ สิทธิการิยะ อะปะระปะชา อิมัสมิง ภะวันตุเม ทุติยัมปิ อิมัง อัคคีพาหูบุพพัง อะหังวันทา อาจาริยัง สัพพะสัยยัง วินาศสันติ สิทธิการิยะ อะปะระปะชา อิมัสมิง ภะวันตุเม ตะติยัมปิ อิมัง อัคคีพาหูบุพพัง อะหังวันทา อาจาริยัง สัพพะสัยยัง วินาศสันติ สิทธิการิยะ อะปะระปะชา อิมัสมิง ภะวันตุเม"

               คาถาบูชาพ่อปู่ฤาษีนารอด ที่ว่า "ฤ ฤา อะระหัง อยู่แล้วหรือยัง พ่อปู่นารอด ขอเชิญเสด็จมาอยู่หัว เอหิ มาบังเกิด ฤ ฤา ภะคะวา อุทธัง อัทโธ จะภะกะสะ คงคงอะ"

ปาฏิหาริย์ที่มีตัวตนจริง
               ในการจัดพิมพ์หนังสือประวัติและวัตถุมงคล "หลวงพ่อพาน สุขกาโม" โดย ด.ต.วิรัตน์ อาจสัญจร ผบ.หมู่งานจราจร สน.บางยี่ขัน กทม. ผู้สะสมและรวบรวมปาฏิหาริย์พระหลวงพ่อพาน ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมประวัติหลวงพ่อพาน การจัดสร้างวัตถุมงคล และประสบการณ์จริงไว้เกือบ ๗๐ เรื่อง โดย "รายได้จากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้มอบแก่วัดโป่งกะสัง"

               ด.ต.วิรัตน์ ได้จัดทำหนังสือเล่มนี้ฉีกแนวของหนังสือพระเครื่องทั่วๆ ไปเลยทีเดียว โดยการนำเอาผู้ที่มีประสบการณ์จริงๆ จากการใช้วัตถุมงคลของท่าน ที่ยังมีชีวิตอยู่มาถ่ายทอดลงหนังสือด้วยตนเอง แถมยังใส่เบอร์โทรศัพท์ของผู้เล่าลงไป เพื่อให้ผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้คลายความสงสัยในเรื่องที่ตนเองได้อ่านว่า ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นมาหลอกคนอ่านหนังสือ

               จากประสบการณ์จริงเมื่ออ่านจบแล้วคุณจะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมขนาด หลวงพ่อคูณ แห่งวัดบ้านไร่ยังกล่าวชมท่านตอนที่ชาวบ้านโป่งกะสังเหมารถบัสใหญ่หลายคัน มากราบนมัสการท่านว่า “พวกเองไม่ต้องมาหาข้าถึงที่นี่ด๊อกมันไกล พ่อพานเองเก่งยิ่งกว่ากูอีก” หรือแม้แต่ หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก ที่ว่าเก่ง ยังให้ลูกศิษย์ของตนเองไปเอาของดีจากท่าน หนังสือเล่มนี้จะให้คำตอบคุณได้เป็นอย่างดี

               หลวงพ่อพาน มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๙ รวมอายุ ๘๔ ปี สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย ถูกเก็บไว้ในโลงไม้เพื่อให้ลูกศิษย์ได้ชมบารมี ปัจจุบันวัดโป่งกะสังมีพระครูถาวรธรรมประสิทธิ์ เป็นเจ้าอาวาส งานหนึ่งที่ท่านสานต่อเจตนารมณ์ของหลวงพ่อพานคือ สร้างโบสถ์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๔ ผ่านไปกว่า ๔๐ ปี โบสถ์ที่หลวงพ่อพานสร้างไว้ยังไม่แล้วเสร็จ ผู้มีจิตศรัทธาเข้ากราบสรีระหลวงพ่อพาน และร่วมบุญสร้างโบสถ์ได้ที่ โทร.๐-๓๒๘๒-๓๐๙๒  และ ๐๘-๙๙๘๐-๖๖๗๐

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น