ตำนานพระกริ่งถึง"พระกริ่งอิ่มบุญ" (1)
พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์
"พระกริ่ง" หนึ่งในพระเครื่องยอดนิยมของไทย
ทั้งที่นิยมสะสมและนิยมจัดสร้างกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทราบไหมครับว่า
"พระกริ่ง" มีที่มาอย่างไร
ตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาลัทธิ
มหายาน เชื่อกันว่า มีพระโพธิสัตว์เรียกว่า "พระธยาทิโพธิสัตว์" อย่างหนึ่ง
และ "มนุษย์โพธิสัตว์" อย่างหนึ่ง และมี "นางดารา" เป็นพระชายา
ทั้งหมดล้วนทรงอานุภาพและอวตารลงมายังโลกมนุษย์เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์
หนึ่งในหลายๆ พระองค์นั้นก็คือ "พระไภษัชคุรุ"
พระองค์ทรงมีความเมตตากรุณาแก่สัตว์โลกทั้งหลาย
ทรงบำบัดความเจ็บป่วยแก่มนุษยชาติผู้มีความทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
พุทธศาสนิกชนจึงให้ความเคารพนับถือพระองค์เป็นอย่างมาก และคิดสร้างเป็น
"รูปเคารพ" ขึ้นมา
เพื่อผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยจะได้พากันไปกราบสักการะขอพรจากพระองค์ให้พ้น
ทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น
ข้อสำคัญ
ก่อนที่จะอธิษฐานขอพรตามความปรารถนานั้น ต้องมีการตีเกราะเคาะระฆัง
สั่นกระดิ่ง เพื่อให้เกิดเสียงดังไปถึงพระองค์เพื่อทรงทราบเสียก่อน
จึงจะเกิดความศักดิ์สิทธิ์
ต่อมาเมื่อผู้คนต้องมีการเดินทางรอนแรม
ตลอดจนทำมาค้าขายในแดนไกล จึงมีผู้คิดสร้างรูปเคารพ
พระไภษัชคุรุให้มีขนาดเล็กในลักษณะของ "พระเครื่อง"
เพื่อความสะดวกในการอาราธนาหรือพกพาติดตัวในเวลาเดินทาง
เมื่อเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้ทำน้ำพระพุทธมนต์เพื่อบำบัด
แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิด "เสียงดัง" ให้พระองค์ทรงรับทราบ
ด้วยภูมิปัญญาโบราณาจารย์ก็มีการดัดแปลงโดยคว้านใต้ฐานให้กว้างและบรรจุเม็ด
กริ่งลงไปแล้วปิดผนึกด้วยโลหะ
ก่อนอธิษฐานขอพรก็เขย่าองค์พระให้เกิดเสียงดังเสียก่อน ขนานนาม
พระเครื่องนี้ว่า "พระกริ่ง"
"พระกริ่ง"
มีการสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศทิเบต และเป็นที่นิยมกันมากทั้งในทิเบต
จีน และขอม ต่อมาเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับประเทศไทย
กอปรกับเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานเผยแผ่เข้ามา ความนิยมใน
"พระไภษัชคุรุ" และ "พระกริ่ง" จึงเข้ามาสู่ประเทศไทย
พระกริ่งในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พระกริ่งนอกและพระกริ่งใน
"พระ
กริ่งนอก" หมายถึง พระกริ่งจากต่างประเทศ อาทิ พระกริ่งใหญ่ พระกริ่งหนองแส
พระกริ่งบาเก็ง พระกริ่งจีนใหญ่ และพระกริ่งทีอ๋อง โดย "พระกริ่งใหญ่"
ถือได้ว่าเป็นต้นแบบการสร้างพระกริ่งในประเทศไทย ส่วน "พระกริ่งใน"
หมายถึงพระกริ่งที่สร้างขึ้นในประเทศไทย
"ตำราการสร้างพระกริ่ง"
ปรากฏขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพนรัต
แห่งวัดป่าแก้วหรือวัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับมาจากที่ใดไม่ปรากฏ
และตกทอดมาเรื่อยจนถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
จึงปรากฏหลักฐานการจัดสร้างพระกริ่งขึ้นและทรงขนานพระนามว่า
"พระกริ่งปวเรศฯ" แต่มา
เป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างกว้างขวางในสมัยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระ
สังฆราช (แพ ติสสเทว) แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม อาทิ พระกริ่งเทพโมฬี
พระกริ่งธรรมโกษาจารย์ พระกริ่งพรหมมุนี และพระกริ่ง วันรัต ปี 2479
เป็นต้น เรียกว่า ขึ้นชื่อทั้งสายวัดบวรนิเวศวิหาร และสายวัดสุทัศน์
จากนั้นมาก็มีการจัดสร้างพระกริ่งกันอย่างแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ http://เว็บพระ.net/index.php
คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น