วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

"นางกวัก" รูปเคารพการค้า

"นางกวัก" รูปเคารพการค้า

พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์

นางกวักนับเป็นรูปเคารพที่ผู้คนให้ความนับถือและนิยมอย่างมากมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจนถึงปัจจุบัน

ด้วย ความเชื่อสืบต่อกันมาว่าสามารถดลบันดาลโชคลาภแก่ผู้กราบไหว้บูชา ช่วยให้ทำมาค้าขึ้น และมีเสน่ห์เมตตามหานิยม โดยเฉพาะผู้มีอาชีพค้าขาย จะสังเกตได้ว่าตามร้านค้าแทบทุกร้านจะมีรูปบูชานางกวักตั้งอยู่บนหิ้งบูชา ลิ้นชักเก็บเงิน หรือแม้แต่ตะกร้าเก็บเงิน บางที่ขนาดตั้งโชว์เด่นเป็นสง่าอยู่หน้าร้านเลยก็มี

ซึ่งนอกจากความ เชื่อดังกล่าวแล้ว นามของ "นางกวัก" เองก็ยังมีนัยเป็นการ "กวัก" เรียกผู้คนมาอุดหนุนร้านค้า จึงสร้างกระแสนิยมในการแสวงหามาไว้บูชาเพิ่มมากขึ้น

นางกวักมีรูป ลักษณะสำคัญเป็นสตรีไทยสมัยโบราณ ผมยาวประบ่า ห่มผ้าสไบเฉียง นุ่งผ้ายกดอก ประกอบด้วยพาหุรัด ทองกร และสร้อยสังวาล นั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่บนแท่นทอง หัตถ์ขวายกงอขึ้นในลักษณะท่ากวักมือ หัตถ์ซ้ายส่วนมากจะถือถุงเงิน และจารึกอักขระขอม เป็น "หัวใจพระสีวลี" ผู้เป็นเอตทัคคะทางโชคลาภ คือ นะ ชาลีติ เป็นต้น

ความเป็นมาของ "นางกวัก" นั้น ตามประวัติ "พุทธสาวก" ในสมัยพุทธกาลมีความตอนหนึ่งว่า ที่เมืองมิจฉิกาสีณฑนครซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากเมืองสาวัตถี มีครอบครัวหนึ่งประกอบอาชีพซื้อขายเลี้ยงชีพ

สองสามีภรรยามีลูกสาว คนหนึ่งชื่อ "สุภาวดี" ต่อมาสุจิตตพราหมณ์ผู้เป็นพ่อได้ซื้อเกวียนมา 1 เล่ม เพื่อนำสินค้าไปเร่ขายในต่างถิ่น สุภาวดีขออนุญาตเดินทางไปด้วยเพื่อเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ณ จุดนี้เองทำให้สุภาวดีได้มีโอกาสพบกับพุทธสาวกแห่งพระพุทธองค์ถึง 2 องค์ ในหลายครั้งหลายครา คือ พระกัสสปเถรเจ้า และพระสิวลีเถรเจ้า ซึ่งหลังจากแสดงธรรมแล้วทั้งสองได้กำหนดจิตประสิทธิ์ประสาทพรให้สุภาวดีและ ครอบครัวทุกครั้ง โดยเฉพาะสุภาวดี ซึ่งรับฟังอย่างตั้งใจจึงมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่างๆ เป็นอันมาก

เวลา ผ่านไปไม่นาน ครอบครัวนี้ก็ทำการค้าได้กำไรร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี เทียบได้กับธนัญชัยเศรษฐี บิดาของวิสาขาแห่งแคว้นโกศล โดยบิดารู้ว่าสุภาวดีคือผู้ที่เป็นสิริมงคลที่แท้จริง เป็นที่ไหลมาแห่งทรัพย์สมบัติของครอบครัว จึงยึดมั่นปฏิบัติธรรมด้วยความศรัทธา และใช้ทรัพย์สินที่ได้มาจากบุญบารมีของลูกสาวทำนุบำรุงศาสนามาโดยตลอด

ผู้ คนต่างรับรู้เรื่องราวและบารมีของ สุภาวดี หรือนางกวัก ที่เป็นที่มาแห่งความร่ำรวยและโชคลาภทางการค้า ทั้งเป็นผู้มีศีลธรรมและคุณธรรม แม้สุภาวดีจะตายไปแล้วแต่อิทธิฤทธิ์ในทางโชคลาภและการค้าก็ยังคงเล่าสืบต่อ กันมาถึงคนรุ่นหลัง มีผู้นับถือมากมายถึงกับปั้นรูปสุภาวดีไว้บูชา ขอให้การค้ารุ่งเรือง และความเชื่อดังกล่าวก็แพร่หลายเข้ามายังสุวรรณภูมิ

ตำนาน "นางกวัก" ของไทยเราก็มีเช่นกัน เป็นการกล่าวถึงธิดาของ "ปู่เจ้าเขาเขียว" โดยสืบเนื่องมาจากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามออกตามหานางสีดา ความว่า พระรามได้พบกับท้าวอุณาราชพญายักษ์เจ้านครสิงขร จึงแผลงศรมาถูกยอดอกท้าวอุณาราช แล้วสาปให้ศรตรึงท้าวอุณาราชอยู่ภายในถ้ำเขาวงพระจันทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของ จ.ลพบุรี และจะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในถ้ำจนกระทั่งถึงศาสนาพระ ศรีอาริย์

นาง ประจันทร์ ธิดาของท้าวอุณาราช ทราบเรื่องก็เข้ามาเฝ้าปรนนิบัติและปฏิบัติธรรมเป็นเพื่อนบิดา ทั้งยังเอาใยบัวมาทอทำเป็นจีวรเตรียมไว้ถวายเมื่อถึงคราวพระศรี อาริย์เสด็จมา เพื่อสร้างกุศลอุทิศให้บิดา แต่ชาวเมืองเกรงว่าท้าวอุณาราชจะฟื้นคืนชีพจึงพากันขับไล่และกลั่นแกล้งนาง ประจันทร์ต่างๆ นานา

จนความทราบถึง "ปู่เจ้าเขาเขียว" ผู้เป็นสหายของท้าวอุณาราช จึงส่งธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งมีรูปโฉมงดงามเป็นที่สุด เป็นที่เสน่หาแก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในแผ่นดิน มาเป็นเพื่อนนางประจันทร์ ปรากฏว่านับแต่ธิดา (แม่นางกวัก) ของปู่เจ้าเขาเขียวมาอยู่เป็นเพื่อนนางประจันทร์ ประชาชนผู้เคยเกลียดชังก็ต่างรักใคร่ช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ขาด ความเกลียดชังที่เคยท่วมท้นนั้นเสื่อมสลายไปสิ้น

ด้วยเหตุนี้นางประจันทร์จึงตั้งชื่อให้ธิดาของปู่เจ้าเขาเขียวว่า "นางกวัก"

"นางกวัก" ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักใคร่ เมตตา อุปถัมภ์เกื้อกูล อีกทั้งความหมายของนาม "กวัก" ทำให้ "รูปบูชานางกวัก" กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีพระเกจิคณาจารย์นิยมสร้างขึ้นมากมายหลายสำนัก ที่มีชื่อเสียงมีอาทิ นางกวัก งาแกะหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ, นางกวักงาแกะหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว, นางกวัก หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง และนางกวัก หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม เป็นต้น

นอกจากนี้ บางรายยังเลือกซื้อจากร้านสังฆภัณฑ์ต่างๆ ตามแบบที่ต้องการ แล้วนำไปให้พระเกจิอาจารย์ที่เคารพปลุกเสกสำทับ ก็มีความเข้มขลังเช่นกัน
ด้วยศรัทธาของผู้บูชาครับผม

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น