วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

หลวงพ่อผิว สีลวิสุทโธ พระเกจิดังปราจีนบุรี

หลวงพ่อผิว สีลวิสุทโธ พระเกจิดังปราจีนบุรี

คอลัมน์ อริยะโลกที่6

"พระครูสีลวิสุทธาจารย์" หรือ "หลวงพ่อผิว สีลวิสุทโธ" วัดสง่างาม เจ้าคณะตำบลบางบริบูรณ์ พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองปราจีนบุรี เป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมของพระครูปราจีนมุนี หรือหลวงพ่อทอง วัดหลวงปรีชากุล เกจิคณาจารย์เรืองวิทยาคุณในยุคก่อนปี พ.ศ.2460

ชาติภูมิ เป็นชาวบ้านท่างาม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เกิดเมื่อปีมะโรง ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 19 พ.ค. 2435 เยาว์วัยช่วยพ่อแม่ทำนา อาศัยศึกษาเรียนรู้อยู่กับพระที่วัดเลียบ ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน จนอ่านออกเขียนได้ทั้งหนังสือไทยและขอม

พออายุ 21 ปี เข้าอุปสมบทที่วัดเลียบ เมื่อเดือนมิ.ย.2456 มีพระครูปราจีนมุนี (หลวงพ่อทอง) เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี วัดหลวงปรีชากุล เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อหร่ำ วัดเลียบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา สีลวิสุทโธ

อยู่ จำพรรษาและเล่าเรียนพระธรรมวินัยเป็นเวลา 10 พรรษา จึงย้ายมาอยู่วัดสง่างาม ซึ่งอยู่ห่างออกมาทางทิศตะวันออกของวัดเลียบคนละฝั่งแม่น้ำประมาณ 3 กิโลเมตร โดยได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 7 ปกครองวัดอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2466-2528

หลวงพ่อผิว วัดสง่างาม จ.ปราจีนบุรี ท่านมีตำแหน่งหน้าที่และสมณศักดิ์ เริ่มจากปี พ.ศ.2466 เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.2475 เป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบล) บางบริบูรณ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี พ.ศ.2482 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนาม "พระครูสีลวิสุทธาจารย์" พ.ศ.2506 เลื่อนเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามเดิม พ.ศ.2513 เลื่อนเป็นเทียบ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก

หลวงพ่อผิว เป็นพระที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ตั้งแต่เริ่มปกครองวัดก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ และพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนาและพุทธศาสนิกชนอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะด้านการศึกษาท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ของวัด และปรากฏว่าในสมัยนั้นมีพระหลายรูปที่สอบได้นักธรรมตรี โท และเอก ซึ่งลูกศิษย์ของท่านที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ได้เป็นเปรียญหลายรูป

สำหรับ ผลงานที่โดดเด่นที่สุด คือ โบสถ์หลังปัจจุบันของวัดสง่างาม ซึ่งท่านได้ใช้ความสามารถก่อสร้างเสร็จในระยะเวลา 5 ปี สิ้นงบประมาณไปเกือบ 2,000,000 บาท

คุณวิเศษอย่างหนึ่งของหลวงพ่อผิว ที่เล่าขานกัน คือ ความเป็นพระผู้มีเมตตาธรรมสูง โดยได้ใช้วิชาความรู้ด้านการแพทย์โบราณช่วยเหลือสงเคราะห์ อนุเคราะห์แก่ผู้เจ็บป่วย เช่น แขนหัก ขาหัก กระดูกหัก จนหายได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมไปถึงสัตว์ต่างๆ อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ขาหักท่านก็ช่วยรักษามา นับไม่ถ้วน

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นหนึ่งในบรรดาพระเกจิอาจารย์ดังที่มักได้รับอาราธนาไปในพิธีพุทธา ภิเษกพระเครื่องหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งครั้งที่เป็นเกียรติประวัติ คือ ได้รับฎีกาเข้าไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกเหรียญพระแก้วมรกต ภปร.ในพระบรมมหาราชวัง ในงานฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ.2525

พระเครื่องและวัตถุมงคลที่ท่านสร้างปรากฏความขลังในด้านพุทธคุณ มีประสบ การณ์ดีทั้งด้านเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย เหรียญบางรุ่นยังพอเช่าหาได้ในราคาไม่แพง แต่ถ้าเป็นเหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2502 เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง หาได้ยากมาก

หลวงพ่อผิว วัดสง่างาม เป็นพระเถระที่สูงด้วยอายุและพรรษากาล มีชื่อเสียงโด่งดังองค์หนึ่งทางภาคตะวันออก มีผู้เคารพนับถือทุกระดับชั้น ทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนในจังหวัด และในถิ่นที่ห่างไกล

ภาพ ลักษณ์ของท่าน คือ พระนักพัฒนา ที่เก่งทั้งพัฒนาวัตถุนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่อาราม และเก่งในการพัฒนาบุคคลจนได้ดีมีชื่อเสียงจำนวนมาก

ยิ่งในเรื่องวัตถุมงคลล้วนเป็นที่สนใจของบรรดานักสะสม ด้วยมีพุทธคุณเด่นด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย มหาอุด คงกระพันชาตรี ส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญซึ่งมีอยู่หลายรุ่นด้วยกัน อาทิ เหรียญรูปไข่รุ่นแรกปี 2502, รุ่น 2 ปี 2512, รุ่น 3 ปี 2515 ที่ระลึกครบ 80 ปี, รุ่น 4 ปี 2517 รูปอาร์ม, รุ่น 5 ปี 2519 รูปหยดน้ำ เป็นต้น

ยังมีพระสมเด็จเนื้อ ว่านรุ่นแรก ปี 2502 หลังปั๊มรูปเหรียญรุ่นแรก, พระสมเด็จ 9 ชั้น, รูปหล่อปั๊มรุ่นแรก ปี 2515, แหนบลงยา, ล็อกเกตภาพสี ฯลฯ

บั้นปลาย ชีวิต หลวงพ่อผิวเริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวาน และโรคแทรกอีกหลายโรค โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเปาโลฯ กรุงเทพฯ และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นครั้งคราว

จนกระทั่งวาระสุด ท้าย ท่านมรณภาพลงอย่างสงบ ที่วัดสง่างาม เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2528 เวลา 08.45 น. สิริอายุ 93 พรรษา 72 และได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2529 มีพระปราจีนมุนี เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธาน

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น