วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พระวัดป่ามะม่วง พระเด่นสุโขทัย

พระวัดป่ามะม่วง พระเด่นสุโขทัย

คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง
เสฐียรพงษ์ วรรณปก


วัดป่ามะม่วง ตั้งอยู่ภายนอก ?อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย? นับเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ตามประวัติศาสตร์ปรากฏความว่า

...สมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ทรงขยายอาณาเขตกว้างไกลจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช และทรงอาราธนาพระมหาเถระที่ได้ไปบวชเรียนตามพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แบบ หินยานจากประเทศลังกามายังกรุงสุโขทัย โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น ?สมเด็จพระสังฆราช? ทรงสร้าง "วัดป่ามะม่วง" ในบริเวณที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญภาวนาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอันเป็น กิจของสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช พร้อมโปรดให้เป็นที่แสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาจัดให้เป็นที่ว่าราชการงานเมืองแก่ข้าราชบริพาร

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 6 (จารึกวัดป่ามะม่วง) ภายในวัด กล่าวถึง

...พระ มหาธรรมราชาลิไทเสด็จออกจากเมืองศรีสัชนาลัย เพื่อปราบจลาจลในเมืองสุโขทัย และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ต่อมาได้ทรงนิมนต์พระมหาสามีสังฆราช จากเมืองพัน (เมืองของมอญ) มาจำพรรษาที่วัดป่ามะม่วง และเพื่อทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ในการทรงผนวชของพระองค์ โดยพระองค์ทรงจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.1905...อีกด้วย

วัดป่ามะม่วง ยังเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากที่วัดนี้มีพระพิมพ์เก่าแก่ที่มีกิตติศัพท์เป็นเลิศในด้านคงกระพัน ชาตรี ซึ่งนับว่ามีชื่อเสียงเป็นที่นิยมสะสมและหวงแหนของชาวสุโขทัยและจังหวัดใกล้ เคียง นั่นคือ "พระวัดป่ามะม่วง"

"พระวัดป่ามะม่วง" หรือบางท่านเรียกว่า "หลวงพ่อโต วัดป่ามะม่วง" เป็นพระเนื้อดินแบบครึ่งซีก มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด เนื้อมวลสารมีส่วนผสมของเนื้อว่านและเกสร จึงแลดูนุ่มและปรากฏคราบรารักอยู่โดยทั่วไป สีส่วนใหญ่เป็นสีแดงและเหลือง

เนื่อง จากเป็นพระที่บรรจุกรุจึงปรากฏคราบนวลกรุอยู่ทั่วองค์พระ พุทธลักษณะเป็นพระรูปทรงกลีบบัว ทรงพิมพ์ติดคมชัดเจน องค์พระประธานมีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัยแบบขัดสมาธิราบ บนฐานหมอน 2 ชั้น ภายในซุ้มเรือนแก้วเส้นคู่ขนาน

ปลายด้านล่างสุดงอนขึ้นคล้ายเศียร พญานาค พระเกศ แบบเกศบัวตูมอยู่บนมุ่นเมาลี พระศก นูนเด่นชัดเจนเชื่อมต่อลงมาเป็นพระกรรณ หรือที่เรียกกันว่า "ชฎาเลื้อย" พระพักตร์กลมป้อม ปรากฏ พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์อย่างชัดเจน ปรากฏเส้นวาดแสดงลำพระศอต่อจากพระพักตร์ถึงพระอังสา ในองค์ที่ติดชัดเจนจะเห็นเส้นพระศอด้วย พระอุระอวบอูม และลาดเว้าลงมาเป็นพระอุทร กลมกลืนสง่างาม เส้นสังฆาฏิ เป็นเส้นคู่ขนาน ลากยาวลงมาจนถึงพระนาภีซึ่งเป็นหลุมลึกชัดเจน

จุดสังเกตประการสำคัญ ที่นับเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะ คือ พระพักตร์ช่วงหน้าจะมีลักษณะหักลงมา และพิมพ์ด้าน หลังมีลักษณะโค้งมน ซึ่งพระวัดป่ามะม่วงที่พบในกรุวัดอื่นๆ อาทิ วัดมหาธาตุ และวัดสระศรี ที่มีพุทธลักษณะเหมือนกันทุกประการ

ยกเว้นพระพักตร์จะไม่หักและพิมพ์ด้านหลังจะเป็นพิมพ์หลังแบนครับผม

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น