วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

พระพุทธชินราชอินโดจีน

พระพุทธชินราชอินโดจีน

พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์

พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 นับเป็นพระกริ่งยอดนิยมมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ด้วย หนึ่ง .. เจตนาการสร้างที่ต้องการให้ทหารและประชาชน ได้มีพระเครื่องไว้บูชาติดตัวในยามเกิดสงคราม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และปกป้องภยันตราย สอง .. เป็นการจำลองรูปแบบ "พระพุทธชินราช" พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองพิษณุโลก ที่มีความงดงามและสำคัญต่อพุทธศาสนิกชน สาม .. ด้วยพิธีกรรมที่ถือว่ายิ่งใหญ่มากในสมัยนั้น เป็นการรวมพระเกจิคณาจารย์ร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงโด่งดังจำนวนมากเข้าร่วม ปลุกเสกและอธิษฐานจิต และ สี่ .. พุทธคุณเป็นเลิศปรากฏเป็นที่กล่าวขานมากมาย ดังบทกวีที่ว่า ...

พุทธชินราชเสริกไสร้ ปฏิมา

งามเงื่อนตามสมญา ยิ่งแท้

พุทธคุณกว่าใคร กำหนด พระเอย

คุ้มใจคุ้มภัยแน่ ศึกสิ้น อินโดจีน

การ จัดสร้างพระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 นั้น ทางคณะกรรมการพุทธสมาคมเป็นผู้ริเริ่ม โดยจำลองรูปแบบจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพระ "ปางชนะมาร" หรือ "ปางสะดุ้งมาร" มี ท่านเจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นแม่งานผู้ดำเนินการ โดยประกอบพิธีเททองหล่อตาม "ตำราการสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์" ของวัดสุทัศน์อย่างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ในวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2485

จากนั้นประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม ในวันที่ 21 มีนาคม 2485 โดยสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) เป็นองค์ประธาน เจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) เป็นแม่งาน ประกอบด้วยเหล่าคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณลือเลื่องรวม 82 รูป อาทิ สมเด็จพระพุทธ โฆษาจารย์ (เจริญ) วัดเทพศิรินทร์, พระครูวรเวทย์มุนี (อี๋) วัดสัตหีบ, พระครูกรุณา วิหารี (เผือก) วัดกิ่งแก้ว, พระครูสิทธิสารคุณ (จาด) วัดบางกะเบา, สมเด็จพระสังฆราช ชื่น วัดบวรนิเวศฯ, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ฯลฯ

ส่งผลให้ พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 ได้รับความนิยมและแสวงหาอย่างสูง ทำให้การทำเทียมเลียนแบบจึงเกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญคือ ฝีมือการปลอมทำได้ใกล้เคียงกับของแท้มากอีกด้วย บางองค์พระแท้แต่โค้ดปลอม เพื่ออัพสนนราคา ขณะที่บางองค์ปลอมทั้งพระปลอมทั้งโค้ดก็มี เอาเป็นว่าฉบับนี้เรามาดูหลักการพิจาราณาตำหนิแม่พิมพ์ เพื่อพอเป็นพื้นฐานเบื้องต้นกัน ... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม

เริ่มด้วยพิมพ์ที่เป็นที่นิยมกัน คือ "พิมพ์สังฆาฏิยาว หน้านาง นิยม A" มีดังต่อไปนี้

จุดที่ 1 - เส้นคู่ขนานจะพบที่เส้นรองซุ้มเรือนแก้วด้านบนขวาขององค์พระ

จุดที่ 2 - มีเนื้อเกินที่นูนขึ้นมาเป็น "ตุ่ม" เล็กๆ ตรงจุดนี้

จุดที่ 3 - อุณาโลมใหญ่และรูปร่างคล้ายๆ ปลายเนกไท

จุดที่ 4 - พระกรรณทั้งสองข้างจะมีขีดขวาง ขีดข้างซ้ายยาวกว่าข้างขวาเล็กน้อย

จุดที่ 5 - พระนาสิกเป็นก้อนๆ เหมือนเนื้อโลหะเกาะรวมตัวกันอยู่

จุดที่ 6 - มีติ่งเล็กๆ เป็นเนื้อเกิน ที่หัวพระเนตรข้างซ้ายขององค์พระ

จุดที่ 7 - นิ้วพระหัตถ์ข้างขวาองค์พระคล้ายมี 3 นิ้ว (โป้ง ชี้ กลาง) นิ้วโป้งแยกออก แต่มีรอยแตกระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลาง

จุดที่ 8 - มีเส้นน้ำตกเป็นแนวตั้งเล็กๆ ต่อระหว่างพระชงฆ์ข้างขวาองค์พระกับกลางฝ่าพระบาทข้างซ้ายองค์พระ

จุดที่ 9 - มีเส้นแตกวิ่งเป็นแนวเกือบขนานกับฐานเขียง บางองค์อาจไม่พบเพราะได้รับการตกแต่งแล้ว

จุดที่ 10 - มีเนื้อเกินระหว่างซอกกลีบบัวตรงจุดนี้แทบทุกองค์

อย่าง ไรก็ตาม การจะเช่าจะหาถ้าไม่แน่จริงหรือยังไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจโดยลำพังทีเดียว ควรหากูรูที่ไว้ใจได้ หรือขอหลักประกันจากผู้ขายว่าถ้าพระไม่แท้ต้องรับคืนเงิน ก็ยังพอทำเนาอยู่ครับผม

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น