วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

ชมรมพระเครื่อง แทน ท่าพระจันทร์

ชมรมพระเครื่อง  แทน ท่าพระจันทร์


สวัสดี ครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน จังหวัดนครปฐมมีพระเครื่องที่เป็นพระกรุพระเก่าหรือไม่ครับเราอาจจะลืมเลือนกันไปบ้างว่าเมืองนี้ก็มีพระเครื่องที่เป็นพระกรุอยู่เหมือนกัน แต่การพบก็มีไม่มากนัก และจำนวนก็ไม่มากเช่นกัน ดังนั้นอาจจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันบ่อยนัก ในวันนี้เรามาคุยกันถึงพระกรุของนครปฐมกันบ้างดีกว่านะครับ

นครปฐม เป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ ซึ่งมีความเป็นมาเป็นพันปี ความรุ่งเรืองมากที่สุดก็จะเป็นครั้งสมัยอาณาจักรทวารวดี ซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 ก็มีหลากหลายชนชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในแถบนี้ เช่น ชนชาติมอญ ชนชาติละว้า และชนชาติขอม เมืองนครปฐมเป็นแหล่งอารยธรรมชุมชนโบราณสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีการค้นพบโบราณสถาน และโบราณวัตถุมากมาย โบราณวัตถุที่พบ มีตั้งแต่เสมาธรรมจักร และพระพุทธรูปศิลปะอินเดีย ทวารวดี จนถึงศิลปะแบบทวารวดีผสมอู่ทองหรือผสมลพบุรี (ฝีมือช่างอู่ทอง 1) โดยส่วนใหญ่จะพบประติมากรรมรูปเคารพขนาดใหญ่ที่งดงามยิ่ง นอกจากนี้ก็มีการ ค้นพบพระเครื่อง-พระพิมพ์ที่เป็นแบบเนื้อ ดินเผา และพระเครื่องเนื้อชินอีกด้วย

พระเครื่องที่เป็นที่รู้จักกันมากก็ คือพระเครื่องของกรุวัดกลาง ในปีพ.ศ.2495 ได้มี ผู้พบพระที่บริเวณวัดกลาง ซึ่งมีพระพิมพ์ต่างๆ เช่น พระร่วงยืน พระร่วงนั่งข้างรัศมี พระพิมพ์เนื้อดินเผาขนาดเขื่องอีกหลาย พิมพ์ นอกจากนี้ก็ยังมีพระพุทธรูปบูชาศิลปะ ทวารวดีด้วย แต่ที่เป็นพระเครื่องนั้นจะเป็นพระร่วงยืน และพระร่วงนั่งข้างรัศมี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง พระทั้งสองอย่างนี้จำนวนพระมีไม่มากนัก จึงค่อนข้างหายากมาก

พระร่วงยืน เป็นพระพิมพ์ประทานพร ยกพระหัตถ์ขวาประทับทรวง และทอดพระหัตถ์ซ้ายแนบขนานกับลำพระองค์ ลักษณะเป็น พระตัดชิดลำพระองค์ไม่มีปีก มีสองพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก

พระร่วงนั่งข้างรัศมี เป็นพระประทับนั่งปางมารวิชัยเหนือฐานบัวสองชั้น มีปีกขององค์พระเป็นรัศมีอยู่ทั้งสองข้าง

พระ ทั้งสองชนิดเป็นเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง เต็มตลอดทั้งองค์ มีไขขาวจับแซมอยู่ทั่วไป ตัวสนิมแดงจะมีลักษณะแตกปริ เป็นเส้นใยแมงมุมซึ่งแสดงถึงอายุความเก่าของเนื้อโลหะ ศิลปะของพระทั้งสองชนิด เป็นพระที่สร้างแบบศิลปะผสมทวารวดี หรือทวารวดียุคปลาย

นอกจากพบพระร่วงยืนและพระร่วงนั่งข้างรัศมีที่ กรุวัดกลางแล้ว ยังมีการพบพระแบบเดียวกันที่วัดพระประโทนอีกด้วย แต่ก็พบจำนวนน้อยมาก สันนิษฐานว่าพระส่วนใหญ่อาจจะชำรุดผุพังไปตามกาลเวลา จึงพบพระที่สมบูรณ์น้อยมาก

ในวันนี้ผมจึงได้นำรูปพระร่วงของกรุวัดกลาง นครปฐม ทั้งพระร่วงยืนและพระร่วงนั่งมาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น