วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

ชมรมพระเครื่อง แทน ท่าพระจันทร์

ชมรมพระเครื่อง  แทน ท่าพระจันทร์
สวัสดี ครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี เป็นวัดสำคัญของจังหวัดนี้และก็เป็นกรุพระเครื่องที่ยิ่งใหญ่ เนื่องมีการพบพระเครื่องในกรุมากมาย และก็พระเครื่องที่มีความนิยมมากที่สุดของกรุนี้ก็คือพระผงสุพรรณ ซึ่งจัดอยู่ในชุดพระเบญจภาคี นอกจากนี้ก็ยังพบพระเครื่องสำคัญๆ อีกมากมายหลากหลายพิมพ์ เช่นพระกำแพงศอก พระมเหศวรเป็นต้น วันนี้เราจะมาคุยกันถึงพระกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรีกันครับ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตั้งอยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณมาแต่โบราณ ต่อมากลายเป็น วัดร้างเนื่องจากภัยสงครามระหว่างไทยกับพม่าเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาเสียกรุง ในปีพ.ศ.2310

ในปีพ.ศ.2379 สุนทรภู่กวีเอกของไทย เดินทางมาจังหวัดสุพรรณบุรี นิพนธ์ "นิราศเมืองสุพรรณ" ไว้ตอนหนึ่งว่า

ตะวันเย็นเห็นหาดหน้า ท่ามี

เมืองสุพรรณบุรี รกร้าง

ศาลตั้งฝั่งนที ที่หาด ลาดแฮ

โรงเล่าเขาต้มค้าง ขอบคุ้งหุงสุรา

วัดตะไกรใกล้บ้าน ศรีประจัน

ถามเหล่าชาวสุพรรณ เพื่อนซี้

ทองประศรีที่สำคัญ ข้างวัด แคแฮ

เดิมสนุกทุกวันนี้ รกเรื้อเสือคะนอง

ครับ ในนิราศเมืองสุพรรณนั้น ทำให้พอมองเห็นภาพในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี สุนทรภู่ท่านได้เห็นโบราณสถานรกร้าง แสดงให้ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตและกลับกลายมาเป็นวัดร้างเนื่อง จากภัยสงคราม

จนถึงประมาณปีพ.ศ.2456 มีชาวจีน คนหนึ่งได้มาอยู่ปลูกผักขายใกล้ๆ วัดพระศรีมหาธาตุ และเขาได้ปีนขึ้นไปบนองค์พระปรางค์ งัดพระประธานซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางขององค์พระปรางค์เขยื้อนออก แล้วลงไปใน กรุลักเอาแก้วแหวนเงินทองหนีไป ต่อมามีข่าวว่ากรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแตก ก็มีคนแอบเข้ามาลงไปในกรุและนำพระและข้าวของออกมาขายในตลาด จนรู้ถึงทางการ ผู้ว่าราชการจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขุดกรุขึ้นมาโดยต้องใช้คนมาก พร้อมทั้งนักโทษมาช่วยกันขนพระขึ้นมา ซึ่งมีจำนวนมหาศาล เป็นหลายเล่มเกวียน นอกจากจะพบพระเครื่องพระบูชาแล้วยังพบลานทอง ที่ยังหลงเหลืออยู่ 2 แผ่น จารึกถึงวาระการสร้างองค์พระปรางค์และพระเครื่องพระบูชาในครั้งนั้น พระเครื่องพระบูชาที่พบ เป็นศิลปะแบบปลายยุคสุโขทัย และศิลปะอู่ทองเป็นหลัก จึงได้นำพระเครื่องพระบูชาและสิ่งของทั้งหมดมาเก็บรักษาไว้ที่จวนผู้ว่าฯ

พระ เครื่องที่พบนอกจากพระผงสุพรรณ พระมเหศวร พระกำแพงศอก พระกำแพงคืบ พระกำแพงนิ้ว พระสุพรรณหลังผาล พระผงใหญ่ พระลีลาละเวง พระสุพรรณขาโต๊ะ พระซุ้มระฆัง พระสุพรรณ ยอดโถ พระตรีกาย พระขุนแผนเรือนแก้ว พระท่า มะปรางค์ พระปทุมมาศ ฯลฯ

ครับพระที่พบน้อย และไม่ค่อยได้เห็นกันนักอย่างหนึ่งก็คือพระปทุมมาศ การตั้งชื่อในสมัยนั้นตั้งได้อย่างเหมาะสมยิ่งนัก ปทุมแปลว่า ดอกบัว มาศแปลว่า ทอง หมายถึงดอกบัวทอง ทรงกรอบดูเผินๆ คล้ายกับดอกบัวตูม องค์พระประทับนั่งปางสมาธิ เหนืออาสนะกลีบบัว มีเส้นซุ้มเป็นครอบแก้ว และมีรัศมีเป็นกลีบบัวอยู่รอบๆ องค์พระ พระพุทธศิลปะเป็นแบบอู่ทอง พระปทุมมาศที่พบเป็นแบบเนื้อ ชินเงิน มีขนาดไม่เขื่องนัก กว้างประมาณ 3.5 ซ.ม. สูง 4.5 ซ.ม. พระปทุมมาศเป็นพระที่พบน้อยมากในกรุ จึงไม่ค่อยได้พบเห็นกันนักครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระปทุมมาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระเครื่องที่หายากของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี มาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น