วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

หลวงปู่กลีบ พุทธรักขิโต พระเกจิดัง"วัดตลิ่งชัน"

หลวงปู่กลีบ พุทธรักขิโต พระเกจิดัง"วัดตลิ่งชัน"

คอลัมน์ อริยะโลกที่6

"วัดตลิ่งชัน" เป็นอารามเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณ พ.ศ.2310 ไม่ปรากฏนามผู้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์

ยุคที่วัดตลิ่งชันเจริญ รุ่งเรืองที่สุด คือ สมัยพระครูทิวากรคุณ หรือ หลวงปู่กลีบ พุทธรักขิโต เจ้าอาวาสวัดตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ และอดีตเจ้าคณะตำบลคลองชักพระ

เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มากด้วยเมตตา และมีวิทยาคมเข้มขลัง วัตถุมงคลของท่านหลายรุ่นปัจจุบันได้รับความนิยมจากนักสะสม

ใน สมัยของหลวงปู่กลีบ นับว่าวัดตลิ่งชันเจริญรุ่งเรืองมาก ลูกศิษย์ลูกหาและผู้เคารพเลื่อมใสในความเข้มขลังของท่าน ให้ความร่วมมือในการพัฒนาวัดเป็นลำดับ หลวงปู่กลีบ จึงไม่ใช่แต่เป็นพระสังฆาธิการที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาวัดเท่านั้น แต่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีคุณวิเศษสูง ซึ่งกิตติคุณความขลังของท่านยังปลุกให้เกิดแรงศรัทธามาจนทุกวันนี้

ประวัติ ชีวิตหลวงปู่กลีบ ที่ได้รับการบันทึกไว้ ท่านเป็นบุตรของนายสิงห์ และนางห่วง สิงห์โต คหบดีผู้มั่งคั่งย่านต.คลองชักพระ อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี (สมัยนั้น) ถือกำเนิดเมื่อวันพุธที่ 21 มี.ค.2419 ปีขาล พี่น้องรวม 8 คน

ใน วัยเยาว์ เรียนอยู่ในสำนักเจ้าอาวาสวัดตลิ่งชัน ศึกษาอักษรสมัยทั้งไทย บาลี พระคัมภีร์และพระธรรมบท จำจดได้เชี่ยวชาญและแตกฉานเป็นอันดี ก่อนที่จะเข้าอุปสมบทเมื่ออายุครบ 21 ปีที่วัดตลิ่งชันนั่นเอง เจ้าอธิการม่วง วัดนายโรง เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธัมม สรมหาเถร) วัดพระเชตุพนฯ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระอมรเมธาจารย์ และพระอาจารย์เทศ วัดกัลยาณมิตร เป็นคู่กรรมวาจาจารย์

พรรษาที่ 2 ย้ายไปอยู่สำนักวัดมหาธาตุ ฝั่งพระนคร ศึกษาพระปริยัติธรรมประมาณหนึ่งพรรษาก็ย้ายมาอยู่สำนักวัดสุทัศนเทพ วราราม เรียนหนังสือไทยและพระปริยัติธรรม จบมูลกัจจายน์ และเรียนคัมภีร์พระธรรมบท บังเอิญเกิดอาพาธเป็นเหตุให้ต้องหยุดพักกลับมารักษาตัวที่วัดตลิ่งชัน

เมื่อ หายเป็นปกติก็พอดีกับตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง พระครูธรรมจริยาภิรมย์ เจ้าอาวาสวัด คฤหบดี จึงเสนอคณะสงฆ์ให้แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปกครองดูแลวัดตลิ่งชันสืบต่อมาในปี 2448

พ.ศ.2455 รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดบริหารกิจการของวัดและการคณะทั้งฝ่ายปริยัติและ บริหาร พ.ศ.2467 ในรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูทิวากรคุณ ตำแหน่งเจ้าคณะหมวด พ.ศ.2469 รับตราตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์

ต่อมาในปี พ.ศ.2500 ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูพิเศษ เปลี่ยนพัดยศ จ.ป.ร. แต่ปรากฏว่าท่านมรณภาพเสียก่อน

หลวง ปู่กลีบ มีความชำนาญทั้งงานพัฒนา เชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระ และด้านวิทยาคม โดยเฉพาะการทำผงทุกแขนง แต่ท่านไม่โอ้อวดเท่านั้น จะทราบกันในหมู่ศิษย์ที่ใกล้ชิด

อีกทั้ง ท่านเป็นพระคณาจารย์ที่ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษก พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ปี 2485 ซึ่งพระเกจิอาจารย์ยุคนั้น รับประกันได้ในความเข้มขลังด้านพลังพุทธาคม

ภาพลักษณ์ของท่านเป็น แบบคนโบราณ นิยมฉันพืชผัก รักสงบและสมถะ มีจิตใจเปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา ตลอดเวลาที่ปกครองดูแลวัดตลิ่งชัน ท่านไม่ทำให้ชาวบ้านผิดหวัง เพราะสร้างทั้งวัตถุไว้มากมาย และสร้างคนจนได้ดิบได้ดีเยอะแยะ

วัตถุมงคลท่านโด่งดังมาแต่ครั้งสงครามอินโดจีน อาทิ ตะกรุดฝาบาตร เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ฯลฯ มีประสบการณ์เล่าขานกันไม่จบ ส่วนใหญ่จะนำมาให้ท่านลงอักขระเลขยันต์ ซึ่งท่านจะใช้ยันต์ไตรสรณาคมน์ เป็นยันต์หลัก ซึ่งจะมีน้อยเพราะสร้างเฉพาะตัวเท่านั้น

ส่วนวัตถุมงคลที่เป็นแบบอย่างมาตรฐานที่นักนิยมสะสมพระเครื่องเป็นสากล คือ เหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก-รุ่นเดียวและรุ่นสุดท้าย สร้างปี 2479 ฉลองแซยิด 60 ปี มีเนื้อทองแดงเนื้อเดียว ทั้งชนิดกะไหล่ทอง, เงินและรมดำ คนท้องถิ่นกล่าวกันว่า พุทธคุณดี-มีประสบการณ์มาก

นอกจากนี้ ยังมีรูปถ่ายอัดกระจกสองหน้ารูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด และพระกริ่งหนองแส เนื้อทองผสม ที่วงการนิยมเพราะเป็นสายวัดสุทัศน์ โดยเททองหล่อพร้อมกับรูปเหมือนเท่าองค์จริง เมื่อปี พ.ศ.2495

บั้นปลายชีวิตท่านเป็นผู้สงบระงับ พูดน้อยเท่าที่จำเป็น ไม่ดุไม่ว่าใคร เพราะมักจะเป็นไปตามนั้น

กระทั่งวันที่ 9 ม.ค.2501 หลวงปู่กลีบ มรณภาพอย่างสงบ เวลา 22.15 น. สิริอายุ 82 ปี พรรษา 61


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

คอลัมม์ข่าวนี้ทางเว็บเราไม่มี วัตถุมงคล หรือ พระเครื่องให้เช่าบูชา ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น