วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระพุทธรูป เก่า-ใหม่ พันธุ์แท้พระเครื่อง ราม วัชรประดิษฐ์

พระพุทธรูป เก่า-ใหม่
พันธุ์แท้พระเครื่อง ราม วัชรประดิษฐ์

"เป็นหนึ่งในหลักวิชาการที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน จึงขอนำหลักการเบื้องต้นของพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ ว่าความเก่าใหม่นั้นดูอย่างไร"

ปัจจุบัน วงการนักนิยมสะสมพระบูชาพระเครื่องขยายวงกว้างยิ่งขึ้น มีผู้ให้ความสนใจศึกษาและมุ่งหวังที่จะเข้าสู่วงการเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ถามว่าบุคคลเหล่านั้นจะเข้าใจในสิ่งที่ได้ศึกษามาอย่างถ่องแท้หรือไม่ สามารถมาขับเคี่ยวกับเสือ สิงห์ นักเล่นมืออาชีพ (เซียน) ในวงการได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความบากบั่นและมุ่งมั่นของแต่ละบุคคล

การพิจารณาพระพุทธ รูป ก็เป็นหนึ่งในหลักวิชาการที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน จึงขอนำหลักการเบื้องต้นในการศึกษา "พระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์" ว่าความเก่าใหม่นั้นดูอย่างไร

มาทำความเข้าใจคำว่า "เนื้อสัมฤทธิ์" กันก่อน คำว่า "สัมฤทิธิ์" คือการนำโลหะต่างๆ มาผสมกัน อาทิ ทองคำ เงิน นาก ทองเหลือง ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว ฯลฯ สำหรับพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์มักนิยมใช้ส่วนผสมของโลหะ ดังนี้

- ผสมโลหะ 5 ชนิด คือ ดีบุก 1 บาท ปรอท 2 บาท ทองแดง 3 บาท เงิน 4 บาท และทองคำ 5 บาท เรียก "ปัญจโลหะ"

- ผสมโลหะ 7 ชนิด คือ ดีบุก 1 สังกะสี 2 เหล็กละลายตัว 3 ปรอท 4 ทองแดง 5 เงิน 6 และทองคำ 7 เรียก "สัตโลหะ"

- ผสมโลหะ 9 ชนิด คือ ชิน 1 เจ้าน้ำเงิน 2 เหล็กละลายตัว 3 บริสุทธิ์ 4 ปรอท 5 สังกะสี 6 ทองแดง 7 เงิน 8 และทองคำ 9 เรียก "นวโลหะ"

ศึกษา เกี่ยวกับโลหะต่างๆ ที่นำมาผสมรวมกัน ซึ่งจะมีคุณสมบัติเฉพาะในแต่ละตัว เช่น ทองคำ เมื่อนำมาผสมกับโลหธาตุอื่นก็จะเกิดความมันใสขึ้น "เจ้าน้ำเงิน" จะทำให้ผิวกลับดำ มองเห็นความเก่าชัดเจน เป็นต้น หรือบางครั้งเมื่อผสมกันแล้วโลหธาตุจะเปลี่ยนไป เช่น เมื่อนำทองแดงมาผสมกับสังกะสีก็จะกลายเป็นทองเหลือง ทั้งนี้ทั้งนั้น การนำเอาโลหะต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวมาผสมรวมกันก็จะปรากฏเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมาสำหรับ เนื้อสัมฤทธิ์นั้นๆ

พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ที่พบเห็นกันโดยส่วนใหญ่ มีอาทิ "เนื้อสัมฤทธิ์ดำ" เป็นส่วนผสมที่มีโลหะเงินมาก "เนื้อสัมฤทธิ์เขียว" มีส่วนผสมของทองเหลืองมาก และ "เนื้อสัมฤทธิ์แดงน้ำตาลไหม้" มีส่วนผสมของทองแดงมาก และทั้งหมดนี้ถ้าได้ผสมโลหะทองคำเข้าไปด้วย ก็จะทำให้เนื้อสัมฤทธิ์ดังกล่าวมันวาวและสวยงามยิ่งขึ้น

เมื่อทราบ ถึงลักษณะการผสมและคุณสมบัติเฉพาะที่จะมีส่วนปรากฏบนพื้นผิวองค์พระแล้ว ก็มาเข้าสู่หลักการพิจารณา "ความเก่า-ใหม่" เบื้องต้น ดังนี้

1.สังเกต พุทธศิลปะ ตามที่ได้ศึกษามาว่าอยู่ในสมัยใดเป็นอันดับแรก ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย หรืออยุธยา จากนั้นดูความประณีตงดงามว่าเป็นฝีมือช่างหลวงหรือช่างราษฎร์

2.พระ เก่าหรือโลหะเก่าแท้จะต้องมีคราบ มีสนิม ความสึกกร่อน รอยชำรุด รูสนิมขุม ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ สนิมจะเกิดจากด้านในออกมาด้านนอก ปากสนิมจะเล็ก การกัดกินจะไม่สม่ำเสมอ แต่ถ้าพระใหม่จะใช้น้ำกรดสาด ลักษณะสนิมปากนอกจะกว้าง และความขรุขระสม่ำเสมอ

3.พระเก่าเมื่อสัมผัสจะไม่มีขอบคม ไม่เหมือนพระใหม่

4.พระเก่าผิวเนื้อจะเข้ม มันใส และแห้งเนียน ในภาษาวงการพระเรียก "มีความซึ้งตาซึ้งใจ" ไม่กระด้างเหมือนพระใหม่

5.พระเก่าที่มีอายุยาวนาน เมื่อเคาะที่ฐานจะมีเสียงแปะๆ ส่วนพระใหม่เสียงจะกังวาน

6.ดินหุ่นด้านในใต้ฐานองค์พระของพระเก่าจะค่อนข้างหนา และแข็ง เอามือสัมผัสแทบไม่หลุดติดมือมาเลย

7.เม็ดพระศกของพระเก่าจะเล็กบ้างใหญ่บ้างเบี้ยวบ้างแตกต่างกันเล็กน้อย แต่พระใหม่จะเป็นระเบียบ

แต่ อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการเข้าสู่วงการนักสะสมจริงๆ ท่านต้องหมั่นค้นคว้าศึกษา ได้เห็นของแท้บ่อยๆ ให้เกิดความชินตา หาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่ไว้วางใจได้สักคนที่จะให้คำแนะนำที่ถูกต้อง
ที่สำคัญต้องกล้าเสี่ยงที่จะลองผิดลองถูกครับผม

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ค่ะ
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่
http://เว็บพระ.net/index.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น